“Gaysorn Village” ร่วมกับ “Christie’s Thailand” จัดงาน “Unique and Legendary Watches”
“Gaysorn Village” ร่วมกับ “Christie’s Thailand” เอาใจเหล่าคนรักนาฬิกาครั้งยิ่งใหญ่!|จัดงาน “Unique and Legendary Watches” นิทรรศการอวดโฉมเรือนเวลาหรูระดับตำนานจากนักสะสมชื่อก้องโลก อดีตนักแข่งรถฟอร์มูลาวันผู้หลงใหลในความเร็วและนาฬิกา!
อบอวลไปด้วยบรรยากาศของเหล่าคนรักนาฬิกา เมื่อเกษรวิลเลจ (Gaysorn Village) แลนด์มาร์กสำหรับคนรักนาฬิกาใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ที่รวบรวมแบรนด์นาฬิการะดับโลกมาไว้ที่นี่ที่เดียว เพื่อสร้าง Like-minded community สำหรับผู้ที่หลงใหลในนาฬิกาหรู พร้อมตอกย้ำความเป็นวอทช์เดสทิเนชั่น (Watch Destination) ชั้นนำของประเทศไทย ด้วยการร่วมกับ คริสตี้ส์ ประเทศไทย (Christie’s Thailand) จัดงาน “Unique and Legendary Watches” อวดโฉม 10 เรือนเวลาหรูจากคอลเลกชั่นระดับตำนานของนักสะสมชื่อก้องโลก โดยนาฬิกาที่นำมาจัดแสดงทั้ง 10 เรือนนี้มาจาก 5 แบรนด์ดังด้วยกัน ซึ่งประกอบไปด้วย ริชาร์ด มิลล์ (Richard Mille), โรเล็กซ์ (Rolex), ปาเต็ก ฟิลิปป์ (Patek Philippe), วาเชอรอง คองสตองแตง (Vacheron Constantin) และลังเงอ แอนด์ โซเนอ’ (A. Lange & Söhne) โดยมีเรือนไฮไลท์เป็น RICHARD MILLE PROTOTYPE RM050 ‘JEAN TODT 50TH ANNIVERSARY’ เรือนเวลาที่ผลิตขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมเฉลองครบรอบ 50 ปี ของการเข้าสู่วงการมอเตอร์สปอร์ตระดับมืออาชีพของ ฌอง ทอดต์ และ RICHARD MILLE PROTOTYPE RM036 NO.1 นาฬิกาเรือนแรกที่ริชาร์ด มิลล์ (Richard Mille) ร่วมออกแบบกับ ฌอง ทอดต์ โดยนาฬิกาทั้งหมดจะถูกนำไปจัดประมูลที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2022 นี้
โดยในงานครั้งนี้ได้รับเกียรติจากเหล่าเซเลบริตี้นักสะสมนาฬิกาตัวยงตบเท้าเข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง อาทิ ทนง-ชมพูนุท ลี้อิสสระนุกูล, วรวุฒิ-นันทมาลี ภิรมย์ภักดี, ชินพล-ธีรรัตน์ จงประเสริฐ, วาริท อยู่วิทยา, ม.ล.กอกฤษต กฤดากร, สุริยน ศรีอรทัยกุล, วงศ์ชนก ชีวะศิริ, กนิษฐ์ สีห์โสภณ, จรินทร์ ธรรมวัฒนะ, ดร.กวิล ชัยเกียรติ, วีรพันธุ์ พงษ์วัฒนานุสรณ์, จาตุรนต์ หิมะทองคำ, อภิเนสภ์ พรพิบูลย์, ร้อยตำรวจเอก ชำนัญ อารีพันธุ์, ศัสตรี ศุขโชติ, ดร.เรืองยศ แสนโภชน์, จักษ์-พรรษิมา ลีละเทพาวรรณ, ฐิติ ตยางคานนท์, นันท์นลิน ไพบูลย์ปรีดี และอีกมากมาย
กุลฉัตร ชาญเศรษฐิกุล ผู้บริหารฝ่ายการจัดการนาฬิกาและจิวเวลรี เกษรวิลเลจ (Gaysorn Village) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ว่า “งานครั้งนี้นับเป็นการร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ระหว่างเกษรวิลเลจและคริสตี้ส์ ประเทศไทย รวมถึงพาร์ทเนอร์อีกมากมาย ซึ่งในฐานะที่เกษรวิลเลจเป็นวอทช์เดสทิเนชั่นของคนรักนาฬิกาหรู เราจึงตั้งใจจัดงานนี้ขึ้นมาเพื่อให้เหล่านักสะสมนาฬิกาได้มายลโฉมเรือนเวลาหรูระดับตำนานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นการตอกย้ำว่าเราอยากให้ที่นี่เป็นเหมือนแหล่งรวมตัวของเหล่าคนรักนาฬิกา ที่จะมาแบ่งปันประสบการณ์และความชื่นชอบร่วมกัน และแน่นอนว่าทุกครั้งที่เราจัดงานขึ้นจะต้องมีความพิเศษมอบให้กับคนรักนาฬิกาทุกคนอย่างแน่นอน”
ด้าน ประภาวดี โสภณพนิช รองประธาน คริสตี้ส์ ประเทศไทย (Christie’s Thailand) เสริมว่า “เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับเกษรวิลเลจจัดงานครั้งนี้ขึ้นมา เพราะด้วยความที่เกษรวิลเลจเป็นวอทช์เดสทิเนชั่นของคนรักนาฬิกาหรู และเราเองในฐานะที่เป็นผู้นำด้านการจัดประมูลสินค้าลักซ์ชัวรี่ ที่มีความตั้งใจอยากให้คนไทยได้สัมผัสกับความงดงามของเรือนเวลาหรูก่อนนำไปประมูลที่เจนีวา โดยเราหวังว่างานครั้งนี้จะสามารถสร้างความประทับใจให้กับคนรักนาฬิกาชาวไทยได้”
สำหรับเรือนเวลา 10 เรือนนั้น ประกอบไปด้วย VACHERON CONSTANTIN PLATINUM TOLEDO 1952 โดดเด่นด้วยหน้าปัดที่อ่านค่าได้ถึงสามเวลา พร้อมกลไกการดูวงโคจรของดวงจันทร์ โดยเรือนเวลา ‘Toledo 1952’ นี้นับเป็นดีไซน์โฉมใหม่ของรุ่น ‘Cioccolatone’ ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในช่วงต้นทศวรรษ 1950 โดยรุ่น ‘Toledo 1952’ นี้ถูกผลิตเพียง 100 เรือนท่านั้น และเรือนที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้เป็นเรือนที่ 57
ถัดมาที่ ROLEX ‘TRIPLE SIX’ COMEX SEA-DWELLER 16660 โดยรหัส 16660 นั้นเปรียบเหมือน ‘Triple six’ ซึ่งเปิดตัวการผลิตครั้งแรกเมื่อปี 1978 จนถึง 1988 ในรูปแบบนาฬิกาข้อมืออัตโนมัติจากสแตนเลสหายาก บริเวณหน้าปัดมีเข็มวินาทีติดอยู่กึ่งกลางเรือน พร้อมติดตั้งระบบระบายก๊าซที่อยู่ในตัวเรือนสำหรับการดำน้ำได้ลึกในระดับ 1,220 เมตร ที่ได้ร่วมมือกับ COMEX (Compagnie Maritime d’Expertises) บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและปฏิบัติการดำน้ำลึก เพื่อออกแบบนาฬิกาสำหรับการดำน้ำลึกได้อย่างปลอดภัย รวมถึงการติดตั้งกลไก Caliber 3035 movement ที่มีฟังก์ชั่น Quickset ทำให้สามารถหมุนเม็ดมะยมเพื่อปรับตั้งค่าวันที่ได้
เรือนต่อมา ROLEX DAYTONA ‘CHAMPAGNE PAUL NEWMAN DIAL’ REF. 6241 นาฬิการหัส 6241 นั้นถูกผลิตขึ้นเพียง 3 ปีเท่านั้น ตั้งแต่ปี 1966-1969 จึงนับได้ว่าเป็นเรือนที่หายากมาก โดยเรือนที่ทำจากทอง 18K ถูกผลิตมาเพียง 300 เรือนเท่านั้น และเรือนที่ทำจากทอง 14K มีเพียง 450 เรือน
ต่อมาที่ RICHARD MILLE PROTOTYPE RM050 ‘JEAN TODT 50TH ANNIVERSARY’ โดดเด่นด้วยกรอบหน้าปัดสีน้ำเงิน บริเวณหน้าปัดมีความโปร่งใสสามารถมองเห็นกลไกการทำงานได้อย่างชัดเจน นับเป็นอีกเรือนที่ควรค่าแก่การเก็บสะสม เพราะเป็นเรือนต้นแบบ (Prototype) เรือนที่ 3 จาก 5 เรือน ที่ผลิตขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมเฉลองครบรอบ 50 ปี ของการเข้าสู่วงการมอเตอร์สปอร์ตระดับมืออาชีพของ ฌอง ทอดต์ ในปี 2017 อีกทั้งตัวเรือนยังมีน้ำหนักเบา พร้อมติดตั้งฟังก์ชั่นจับเวลาได้นานถึง 30 นาที
เรือนถัดมา RICHARD MILLE PROTOTYPE RM036 NO.1 อีกหนึ่งรุ่นลิมิเต็ด อิดิชั่น เพราะเป็นนาฬิกาเรือนแรกที่ริชาร์ด มิลล์ (Richard Mille) ร่วมออกแบบกับเจ้าของนาฬิกา โดยตัวเรือนผลิตจากไทเทเนียม โดดเด่นด้วยหน้าปัดเปลือยแบบสเกเลตัน (Skeleton) ที่สามารถมองเห็นการทำงานของกลไกภายในได้อย่างงดงาม มาพร้อมกลไกตูร์บิยง (Tourbillon) ที่ช่วยให้นาฬิกาทำงานได้อย่างเที่ยงตรงและแม่นยำมากที่สุด โดยผลิตขึ้นเพียง 15 เรือนเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นรุ่นที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนความปลอดภัยในการขับขี่ด้วยการติดตั้งกลไก G-Sensor ที่มีคุณสมบัติการตรวจจับความเร็วในการขับขี่ โดยจะแสดงผลผ่านหน้าปัดวัดความเร็วบนนาฬิกา โดยโซนสีเขียวแปลว่าปลอดภัยแต่ถ้าเป็นโซนสีแดงแปลว่าอันตราย
รุ่นต่อมาคือ RICHARD MILLE UNIQUE RM004 V2 MADE FOR THE FIA โดดเด่นด้วยกรอบตัวเรือนทองคำที่มีเนื้อสีอมชมพู (Pink gold) 18K และเป็นรุ่นที่ออกแบบร่วมกับเฟลิเป้ มัสซา (Felipe Massa) นักแข่งรถฟอร์มูล่าวันชาวบราซิล ซึ่งเป็นนักกีฬาคนแรกที่ได้ร่วมมือออกแบบนาฬิกากับริชาร์ด มิลล์ (Richard Mille) โดย RM004 เป็นเรือนเวลาที่ใช้วัสดุคุณภาพสูงเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการอ่านค่าเวลาที่แม่นยำ และโดดเด่นด้วยฟังก์ชั่นโครโนกราฟที่จับเวลาได้แม่นยำแบบเสี้ยววินาที
ต่อมาที่ A. LANGE & SOHNE GRAND LANGE 1 LUNA MUNDI NO. 75/101 อีกหนึ่งเรือนเวลาหายากที่ถูกผลิตขึ้นระหว่างปี 2003 ถึง 2004 โดยเป็นรุ่นลิมิเต็ด อิดิชั่น ที่ติดตั้งกลไกการดูวงโคจรของดวงจันทร์ และบนหน้าปัดยังมีการแสดงวงโคจรของดวงจันทร์ฝั่งซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้อีกด้วย โดยรุ่นนี้เป็นเรือนที่ 75 จากทั้งหมด 101 เรือน โดดเด่นด้วย 2 ดีไซน์ ได้แก่ ตัวเรือนที่ทำจากทองคำขาว 18K และตัวเรือนที่ทำจากทองคำเนื้อสีอมชมพู (Pink gold) 18K
เรือนต่อมา PATEK PHILIPPE PERPETUAL CALENDAR CHRONOGRAPH 3970E อีกหนึ่งเรือนเวลาน่าสะสมจากปาเต็ก ฟิลิปป์ (Patek Philippe) ที่มาพร้อมฟังก์ชั่นโครโนกราฟ โดยผลิตขึ้นตั้งแต่ปี 1951 ถึง 1985 นับเป็นอีกหนึ่งรุ่นที่ควรค่าแก่การสะสม กับการติดตั้งกลไกเลมาเนีย (Lemania) รุ่นใหม่ งดงามด้วยหน้าปัดทองคำ 18K ที่จับคู่มากับสายหนังสีน้ำตาลผิวด้าน
ปิดท้ายที่ VACHERON CONSTANTIN UNIQUE ‘FERRARI ENZO’ MERCATOR โดดเด่นด้วยภาพวาดบริเวณหน้าปัดที่ถูกวาดมือด้วยเทคนิคคลัวซอนเน่ (Cloisonné) ซึ่งเป็นเทคนิคโบราณสำหรับการตกแต่งโลหะวัตถุ ให้เป็นรูปรถเฟอร์รารี เอนโซ่ (Ferrari Enzo) สีแดง โดยช่างฝีมือชั้นครู (Metiers D’Art) ที่มีชื่อเสียงระดับโลก เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปี ให้กับเจ้าของปัจจุบันที่ได้ทำงานกับเฟอร์รารี (Ferrari) ซึ่งต้นแบบรถเฟอร์รารี (Ferrari) ที่อยู่บนนาฬิกานั้นก็เป็นรถของเจ้าของนาฬิกาด้วยเช่นกัน โดยนาฬิกาดังกล่าวตัวเรือนทำจากทอง 21K โดยมีอีกหนึ่งความโดดเด่นคือตัวอ่านค่าเวลาหลักนาทีและหลักวินาที ถูกดีไซน์ให้อยู่บริเวณด้านล่างของตัวหน้าปัดนาฬิกา
นอกจากนี้เหล่าเซเลบริตี้ที่มาร่วมงานยังได้เผยถึงเคล็ดลับการเลือกสะสมนาฬิกาและเรือนเวลาเรือนโปรด เริ่มจาก สาวเก่งแห่งวงการรถหรู นันทมาลี ภิรมย์ภักดี เผยว่า “จริงๆ นาฬิกาที่ใส่ส่วนใหญ่สามีจะเป็นคนเลือกให้ เพราะเขาเป็นคนที่ชอบนาฬิกามาก ก็จะซื้อเป็นของขวัญให้ตลอดตามโอกาสพิเศษต่างๆ อีกอย่างเราก็มองเป็นเรื่องของการลงทุนด้วย จะชอบแบรนด์ที่ดีไซน์สวยมีเอกลักษณ์ เป็นรุ่นที่มีคุณค่า หายาก และมีความต้องการในตลาดสูง
อย่างเรือนที่ใส่มาวันนี้จะเป็นโอเดอมาร์ ปิเกต์ (Audemars Piguet) ชอบเรือนนี้เพราะเป็นรุ่นหน้าปัดเปลือยแบบสเกเลตัน ส่วนเรือนที่ชอบในงานนี้แน่นอนว่าจะต้องเป็น VACHERON CONSTANTIN UNIQUE ‘FERRARI ENZO’ MERCATOR เพราะหน้าปัดเป็นรูปรถเฟอร์รารี เอนโซ่ (Ferrari Enzo) สีแดง ที่สวยมากๆ และการอ่านค่าเวลายังมีความเป็นเอกลักษณ์อีกด้วย ส่วนวิธีเก็บรักษาหลังถอดออกจะใช้ผ้าเช็ดทุกครั้ง และเวลาที่ต้องใส่เรือนสแตนเลสสตีลก็จะหลีกเลี่ยงการใส่ชุดผ้าลูกไม้หรือชุดที่อาจทำให้นาฬิกาเป็นรอยได้ กรณีถ้าเราเผลอทำชุดเกี่ยวนาฬิกาก็จะทำให้เป็นรอยได้ง่าย ก็ต้องคอยระวังและรักษาให้ดี”
ถัดมาที่สาวสังคม วงศ์ชนก ชีวะศิริ เล่าว่า “แบรนด์นาฬิกาที่ชื่นชอบที่สุดก็จะมีปาเต็ก ฟิลิปป์ (Patek Philippe) กับริชาร์ด มิลล์ (Richard Mille) เพราะเป็นแบรนด์ที่ดีไซน์ค่อนข้างมีความโดดเด่น ไม่ซ้ำใคร อย่างเรือนที่ใส่มาวันนี้ก็จะเป็นริชาร์ด มิลล์ (Richard Mille) ที่มีแค่ 30 เรือนในโลก
ส่วนเรือนที่ชอบในงานนี้จะเป็น RICHARD MILLE PROTOTYPE RM050 ‘JEAN TODT 50 TH ANNIVERSARY’ เพราะเป็นเรือนต้นแบบ (Prototype) เรือนที่ 3 จาก 5 เรือน ที่ทำขึ้นเพื่อเฉลิมเฉลอง 50 ปีการเข้าสู่วงการมอเตอร์สปอร์ของ ฌอง ทอดต์ ซึ่งโดยปกติเราจะชอบสะสมนาฬิกาชิ้นที่เป็นลิมิเต็ด อิดิชั่น อยู่แล้ว เพราะรู้สึกว่ามันมีมูลค่าสูง สำหรับการเก็บรักษาก็จะเอาไว้ในตู้เก็บนาฬิกาหรือตู้เซฟ ส่วนการทำความสะอาดก็จะส่งให้แบรนด์ดูแลเพราะเขาเชี่ยวชาญอยู่แล้ว”
ต่อมาที่เวิร์คกิ้งวูแมน ธีรรัตน์ จงประเสริฐ เผยว่า “เราชอบใส่นาฬิกาอยู่แล้ว เพราะรู้สึกว่าเป็นเครื่องประดับที่อยู่ติดตัวได้ตลอด แล้วก็ชอบที่จะสะสมด้วย อย่างแบรนด์ที่สะสมอยู่ก็จะมีโรเล็กซ์ (Rolex) กับปาเต็ก ฟิลิปป์ (Patek Philippe) เพราะเป็นแบรนด์ที่มีเรื่องราวประวัติศาสต์ที่ยาวนาน แล้วก็น่าสนใจ สิ่งเหล่านี้มันสามารถสร้างมูลค่าได้
สำหรับนาฬิกาที่ชอบและใส่ติดตัวตลอดจะเป็นโรเล็กซ์ (Rolex) รุ่น ‘Daytona LOKI’ ที่มีตัวเรือนสีทองและหน้าปัดเขียว เป็นเรือนที่สามารถมิกซ์แอนด์แมทช์เข้ากับเครื่องประดับอื่นๆ ได้ง่าย รวมทั้งเสื้อผ้าด้วย ส่วนเรือนในงานที่ชอบจะเป็น ROLEX DAYTONA ‘CHAMPAGNE PAUL NEWMAN DIAL’ REF. 6241 ด้วยดีไซน์ตัวเรือนสีทองที่ตัดกับสีดำมันมีความลงตัวมากๆ ทั้งโมเดิร์นและคลาสสิกได้ในขณะเดียวกัน ในเรื่องของการเก็บรักษาเราจะเอานาฬิกาออกมาเช็ดทุกวัน และนาฬิกาทุกเรือนเราจะทยอยเอาออกมาใส่ จะไม่เก็บไว้เฉยๆ แล้วก็จะทำตามคำแนะนำการเก็บรักษาที่แบรนด์บอกอย่างเคร่งครัด”
ปิดท้ายที่เซเลบริตี้หนุ่ม สุริยน ศรีอรทัยกุล เล่าว่า “นาฬิกาเรือนแรกที่สะสมจะเป็นของโชพาร์ด (Chopard) หลังจากนั้นก็สะสมมาเรื่อยๆ ก็จะมีทั้งปาเต็ก ฟิลิปป์ (Patek Philippe) คาร์เทียร์ (Cartier) แล้วก็แบรนด์อื่นๆ อีกบ้าง ปกติเวลาสะสมก็จะเลือกจากความชอบ แล้วก็มูลค่า ซึ่งก็จะเลือกจากความนิยมของแบรนด์ ความต้องการในตลาด แล้วก็รุ่นที่เป็นลิมิเต็ด อิดิชั่น อย่างเรือนที่ชอบวันนี้ก็จะเป็น PATEK PHILIPPE PERPETUAL CALENDAR CHRONOGRAPH 3970E ที่มีฟังก์ชั่นโครโนกราฟสำหรับจับเวลา และเป็นรุ่นที่ผลิตขึ้นช่วง 1951 ถึง 1985 ดีไซน์จึงมีความคลาสสิกมากๆ ส่วนเรื่องการดูแลรักษานาฬิกาที่สะสมไว้ก็จะต้องเอาออกมาเปลี่ยนถ่านทุกปี พวกรุ่นออโต้ก็เอาออกมาขยับนิดขยับหน่อย แล้วก็ต้องส่งซ่อมบำรุง (Maintenance) อย่างสม่ำเสมอ”
โดยงาน “Unique and Legendary Watches” ที่จะขึ้นในครั้งนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากพาร์ทเนอร์อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เรดบูล (Red Bull), แสนสิริ (Sansiri), ธนาคารซิตี้แบงก์ (Citibank), เฟอร์รารี่ โอนเนอร์ คลับ ไทยแลนด์ (FOCT) และอีกมากมาย
ร่วมสัมผัสประสบการณ์แห่งเรือนเวลาหรูระดับโลกได้แล้ววันนี้ที่ เกษรวิลเลจ (Gaysorn Village) และสามารถติดตามข่าวสารข้อมูลต่างๆ ได้ทาง www.facebook.com/GaysornVillage/ และ www.gaysornvillage.com