มั่นใจแค่ไหนว่าสายตายังดีอยู่!? วันสายตาโลกปีนี้ “แว่นท็อปเจริญ” ชวนมาทำเช็คลิสต์ ‘พฤติกรรมเสี่ยงทำร้ายดวงตา’

มั่นใจแค่ไหนว่าสายตายังดีอยู่!? วันสายตาโลกปีนี้

“แว่นท็อปเจริญ” ชวนมาทำเช็คลิสต์ ‘พฤติกรรมเสี่ยงทำร้ายดวงตา’

ทราบหรือไม่ว่า ภาวะสายตาผิดปกติและโรคตาที่หลายคนประสบปัญหาอยู่ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุทั้งจากกรรมพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของดวงตา โรคประจำตัว รวมถึงพฤติกรรมบางอย่างที่ทำหรือพบเจอในชีวิตประจำวัน ที่อาจแฝงไปด้วยภัยเงียบซึ่งค่อยๆ ทำร้ายดวงตาเรา เนื่องในเดือนแห่งวันสายตาโลกปีนี้ ซึ่งตรงกับวันที่ 12 ตุลาคม 2566 นายแพทย์นพวุฒิ ตรีพรชัยศักดิ์ จักษุแพทย์แห่ง “แว่นท็อปเจริญ” จึงขอเน้นย้ำถึงการดูแลถนอมดวงตาให้มีสุขภาพที่ดีและแข็งแรงไปนานๆ พร้อมแนะหมั่นสังเกตพฤติกรรมของตนเองและคนใกล้ชิด ให้ห่างไกลจากพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อดวงตาเพียงคู่เดียวของเราได้

1. ใช้หน้าจออุปกรณ์ดิจิทัลติดต่อกันเกิน 3 ชั่วโมงต่อวัน โดยไม่หยุดพักสายตาทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม ปวดตา ตาล้า ตาแห้ง แสบตา ภาพโฟกัสเบลอ โดยส่วนมากจะเกิดกับเหล่ามนุษย์ออฟฟิศ ผู้ที่ติดซีรีส์ สายโซเชียลที่ใช้โทรศัพท์ทั้งวัน และเหล่าเกมเมอร์ที่ชอบเล่นเกมแบบนอนสต็อป ซึ่งการเพ่งจ้องจอมือถือในระยะใกล้เกินไป มีโอกาสเพิ่มการเกิดภาวะสายตาผิดปกติได้ ทางที่ดีควรเว้นระยะห่างจากหน้าจออย่างเหมาะสม ทุกๆ 20 นาทีให้พักสายตา 20 วินาที และมองไกลๆ ไปยังสิ่งที่อยู่ไกลกว่า 20 ฟุต และเลือกสวมแว่นตาที่ประกอบเลนส์กรองแสงสีฟ้า (Blue Cut)

2. ชอบอ่านหนังสือหรือดูทีวีในที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอเป็นประจำ พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้สายตาทำงานหนักขึ้น เพราะต้องเพ่งจ้องตัวหนังสือหรือปรับโฟกัสภาพให้คมชัดโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้กล้ามเนื้อตาอ่อนล้า จนเกิดอาการตาล้า ปวดตา หรือสายตาพร่ามัวชั่วขณะ เพื่อลดโอกาสการเกิดอาการเหล่านี้ ควรอ่านหนังสือให้มีระยะห่างจากดวงตาอย่างน้อย 30 ซม. จัดระยะการรับชมให้เหมาะสมกับขนาดของหน้าจอทีวี และทำกิจกรรมในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ

3. สาย Outdoor ชอบกิจกรรมกลางแจ้ง การเผชิญกับแสงแดดที่มีรังสียูวี ก่อให้เกิดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจก โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคต้อลมและต้อเนื้อ อีกทั้งยังทำให้เกิดอาการทางตา เช่น ตาล้าหรือสายตาพร่ามัว มักพบในผู้ที่ชอบเล่นกีฬากลางแจ้ง ชอบเดินทางท่องเที่ยว และมีอาชีพที่ต้องทำงานกลางแดด ดังนั้นควรปกป้องดวงตาโดยสวมแว่นกันแดดที่มีคุณสมบัติในการกรองรังสียูวีจากแสงแดดและลดแสงสะท้อน เพื่อถนอมดวงตาให้มีสุขภาพที่ดีอยู่เสมอ

4. ดึงดันใช้แว่นตาอันเดิมที่มองอะไรก็เบลอไปหมด การใช้แว่นตาอันเดิมแต่การมองเห็นแย่ลงเพราะค่าสายตามีการเปลี่ยนแปลง หรือสวมใส่แว่นตาที่เสื่อมสภาพจากการใช้งานมานาน รวมถึงแว่นตาที่ชำรุดจากการเก็บรักษาผิดวิธีทำให้เลนส์มีรอยขีดข่วน เป็นพฤติกรรมที่ทำให้สายตาทำงานหนักมากขึ้น เนื่องจากต้องใช้สายตาเพ่งจ้องเพื่อโฟกัสภาพให้คมชัดขึ้น ส่งผลให้มีอาการปวดตา ปวดหัว ตาล้า หรือมองเห็นภาพซ้อนได้ ทางที่ดีควรตรวจวัดสายตาเป็นประจำทุกปี สวมใส่แว่นตาเฉพาะบุคคล ที่สำคัญควรดูแลรักษาและใช้งานอย่างถูกวิธีจะช่วยถนอมแว่นตาให้อยู่กับเราไปนานๆ

5. การมองเห็นเปลี่ยนไปหรือเห็นสิ่งแปลกปลอม แต่ปล่อยไว้ไม่รักษา เป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจเกิดผลร้ายกับดวงตาในระยะยาว หากเริ่มมีอาการปวดตา มองเห็นภาพซ้อน ภาพเบลอ ไม่คมชัด เห็นสีผิดเพี้ยน หรือมองเห็นสิ่งแปลกปลอมอย่างแสงฟ้าแลบ จุดดำ หยากไย่ลอยไปมา เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเกิดความผิดปกติกับดวงตา โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปหรือกลุ่มเสี่ยงที่มีกรรมพันธุ์ต้อหิน ประสบภาวะสายตายาว มีอาการนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ควรรีบพบจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย หรือหากตรวจพบอาการผิดปกติจะช่วยให้เข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว และป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นอีกด้วย

วันสายตาโลกปีนี้ แว่นท็อปเจริญ จึงขอเชิญชวนทุกท่านหมั่นดูแลปกป้องดวงตาของตนเองและครอบครัวให้มีสุขภาพที่ดี ให้ความสำคัญกับการดูแลสายตาตามคำแนะนำของจักษุแพทย์ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตา และตรวจเช็คสุขภาพดวงตาเป็นประจำ โดยสามารถโทรนัดหรือแจ้งขอรับบริการตรวจวัดสายตาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสายตา ด้วยเครื่องมือตรวจวัดสายตาที่มีคุณภาพมาตรฐานครบครัน ได้ที่ร้านแว่นท็อปเจริญทุกสาขา สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook.com/TopCharoenOpticalOfficial เว็บไซต์ www.topcharoen.co.th และไลน์ @topcharoen

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *