“วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ สมโภชพระอารามหลวง ครบ 338 ปีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 72 พรรษา !!

“วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ สมโภชพระอารามหลวง ครบ 338 ปีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 72 พรรษา !!

สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรม, กรมการศาสนา,สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย,กรุงเทพมหานคร และวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ จัดงานใหญ่ สมโภชพระอารามหลวงวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ครบ 338 ปี เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 72 พรรษา นำเสนอความงดงามของวัดคู่วัง – ประวัติศาสตร์ล้ำค่าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จัดแสดงแสงสีและวัฒนธรรมไทย ตลาดย้อนยุค – ตลาดงานคร๊าฟ นิทรรศการ และการนั่งสมาธิที่มีจำนวนคนเข้าร่วมมากที่สุดในโลก ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ บันทึกสถิติลงใน Guinness Book of World Records สู่จุดหมายแห่งการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาระดับโลก

พระพรหมวชิราธิบดี เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร เปิดเผยว่า นับตั้งแต่การก่อตั้งวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ซึ่งเดิมชื่อว่าวัดสลัก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ปรากฏศิลาจารึกมีอยู่ไว้ใต้ฐานพระพุทธรูปหินซึ่งเป็นพระประธานในอุโบสถวัดสลัก โดยอักษรที่จารึกนั้นเป็นอักษรในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ใน ปี พ.ศ.2228 และนับจนถึงปัจจุบัน ปี พ.ศ.2566 นับได้ว่าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์มีอายุครบ 338 ปี

ดังนั้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณูปการ คุณงามความดีที่บูรพมหากษัตริย์และบูรพาจารย์ผู้ได้สร้างวัดมหาธาตุให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนของอนุชนคนรุ่นหลัง ทำให้มีความรู้ความสามารถตั้งตนในทางที่ชอบได้ เป็นจุดเริ่มต้นของการสอนวิปัสสนากรรมฐานแนวสติปัฏฐาน 4 ดังนั้นคณะสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และคณะศิษยานุศิษย์จึงพร้อมใจกันจัดให้มีการสมโภชพระอารามขึ้น ในระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2566 – 2 มกราคม พ.ศ.2567 ภายใต้ชื่อ “งานสมโภชพระอารามหลวงครบ 338 ปี เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”

นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ นับเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก โดย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สถาปนาพระอารามแห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ.2326 พระอารามนี้เป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราชในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์จำนวน 5 พระองค์ เป็นสถานที่ทำสังคายนาพระไตรปิฎก มีการก่อตั้งวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทยแห่งแรกขึ้น นับเป็นวัดแรกที่ใช้นาม “วิทยาลัย” ในประเทศไทยจากมหาธาตุวิทยาลัย สู่ความเป็นมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นามพระอารามได้เปลี่ยนจากวัดสลักเป็นวัดนิพพานาราม วัดพระศรีสรรเพชญ์ และวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร ในปัจจุบัน

การจัดงานนี้ยังมีจุดประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเจริญพระชนมพรรษาครบ 72 พรรษา ใน ปี พ.ศ. 2567 และเพื่อรำลึกถึงบูรพพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์และเหล่าบูรพาจารย์ ที่ได้สร้างและทำนุบำรุงวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบมาถึงปัจจุบัน

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ยังเป็น 1 ในวัดสวยแห่งเกาะรัตนโกสินทร์ที่ต้องไปไหว้สักการะ ทั้งยังมีพระบรมสารีริกธาตุ-พระศรีสรรเพชญ์-พระอรหันต์ พระอุโบสถใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร พระมณฑป ตึกแดง ศิลาจารึกดวงชะตา และต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งถือว่าเป็นวัดคู่วัง คู่ประเทศที่สำคัญยิ่ง

ภายในงานจะมีการปฏิบัติธรรมเจริญจิตตภาวนา กิจกรรมสั่งสมเสบียงบุญ สวดมนต์ข้ามปี เจริญสมาธิพร้อมกันทั่วโลก หรือการนั่งสมาธิที่มีจำนวนคนเข้าร่วมมากที่สุดในโลก (ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่) เพื่อบันทึกสถิติลงใน Guinness World Records อีกด้วย

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมร่วมสืบสานให้วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นจุดหมายแห่งการเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมทั้งของชาวไทยและชาวต่างชาติ ปัจจุบันภายในวัดมี 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่วัด ได้แก่

1) พระเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ (พระเจดีย์ทอง) ในพระมณฑป ซึ่งสมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท ทรงสร้างพระมณฑปสูง 10 วา บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อเป็นที่สักการะบูชา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ สันนิษฐานว่า ภายในพระเจดีย์ทองนี้ได้บรรจุพระอัฐิ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกไว้ด้วย
2) พระศรีสรรเพชญ์ พระประธานใหญ่ในพระอุโบสถ
3) บวรราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระราชอนุชาร่วมพระชนกชนนีกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเป็นแม่ทัพผู้ทรงพระปรีชาสามารถสูงทั้งในเชิงยุทธศาสตร์และยุทธวิธี เป็นผู้ก่อสร้างพระราชวังบวรสถาน บูรณะปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุและทรงส่งเสริมงานศิลปะสาขาอื่นๆ
4) พระประธานศิลาแลง (หลวงพ่อหิน) พระประธานในอุโบสถวัดสลัก (ชื่อเดิมของวัดมหาธาตุ) ปัจจุบันประดิษฐานในพระวิหารหลวง
5) ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ซึ่งพระสมณทูตไทยได้นำหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมืองอนุราธปุระ มาปลูกไว้ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เมื่อปี พ.ศ.2361 ปัจจุบันต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์มีอายุ 205 ปี

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ททท.ได้มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวโซนเกาะรัตนโกสินทร์ หนึ่งในนั้นคือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ซึ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ททท.ได้ร่วมกับทางวัดจัดกิจกรรมศรัทธานำทาง เส้นทางนำเที่ยว เป็นอีกมิติที่น่าสนใจในการเชื่อมสถานที่ท่องเที่ยว ตลอดจนวัดวาอารามต่างๆ สู่การท่องเที่ยวเชิงศาสนา ที่จะสร้างความหมายในการเดินทางได้อย่างน่าจดจำ พร้อมทั้งจัดเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์กับสถานที่โดยรอบ

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ถือเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวทางพุทธศาสนาที่ต้องห้ามพลาดในเมืองไทย ความยิ่งใหญ่จากอดีตถึงปัจจุบันนั้น นับเป็นอารามหลวงชั้นเอกพิเศษที่มีเพียงแค่ 1 ใน 6 ของเมืองไทย พระอารามหลวงแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ททท.จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวสายบุญท่องเที่ยววัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ที่ตั้งอยู่อย่างโดดเด่นในเกาะรัตนโกสินทร์ ในคอนเซ็ปท์ “เดินเที่ยวเช็คอิน เคล้าถิ่นประวัติศาสตร์”

นางฐนิวรรณ กุลมงคล กรรมการอำนวยการจัดงาน กล่าวว่า ภายใน “งานสมโภชพระอารามหลวงครบ 338 ปีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”จะมีการจัดการแสดง ILLUMINATE LIGHTING SHOW โดยการใช้แสง สี และ MAPPING  ดึงดูดความสนใจของผู้เข้าชมงาน ใน Concept “การเดินทางด้วยแสงแห่งปัญญา : JOURNEYING THROUGH LIGHT OF WISDOM” การแสดง ILLUMINATE WITH THAI JAZZ CONCERT ดนตรีที่เชื่อมโยงความงดงามของวัฒนธรรมไทยประวัติศาสตร์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ความผูกพันและศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนากับสังคมไทยใน Concept “MINIMAL MUSIC” :ดนตรีเล่าเรื่อง (เครื่องดนตรีน้อยชิ้นแต่เห็นภาพและสร้างสรรค์) โดยเป็นการจัดการแสดง Concert ผสมผสานกับ Mapping Laser Building ลงไปที่ตัวอาคารตามจังหวะเสียงดนตรี เส้นแสงของเลเซอร์ที่ถูกยิงลงบนตัวอาคาร ทำให้ความรู้สึกดูตื่นตาตื่นใจมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการเสวนาเรื่องงานของพระธรรมทูต,นิทรรศการทางการศึกษาของ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และการจัดแสดงนิทรรศการ 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ นับได้ว่าภายในงานมีการแสดงทางวัฒนธรรมและดนตรีไทยที่หลากหลาย กิจกรรมตลาดโบราณย้อนยุค อาหารและขนมไทยที่มีเอกลักษณ์ กิจกรรมตลาดงานคร๊าฟ (Mahathat Craft Market) จึงใคร่ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมงาน และเข้าร่วมกิจกรรมการสวดมนต์ข้ามปีเจริญสมาธิรวมใจไทยพร้อมกันทั่วโลก เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 72 พรรษา  ในปี พ.ศ.2567 ซึ่งจะมีการแจกเทียน LED ให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวงานในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และบันทึกสถิติโลก Guinness World Records อีกด้วย

โดยในงานแถลงข่าวมีการแสดงชุด “นารายณ์ทรงสุบรรณ” เป็นการจำลองเรื่องราวมาจากพระอุโบสถของวัดมหาธาตุ เป็นหน้าบันเป็นไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจกตรงกลาง เป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑยุดนาค โดยกลุ่มนักเรียน นักศึกษา“กลุ่มโรจน์จรัสฤทธิ์”พร้อมชิมอาหารไทยโบราณ เช่น ข้าวยำ, เผือกทรงเครื่อง,หมี่กะทิ,จีบนก,ช่อม่วง และผลไม้ต่างๆ ดับกระหายด้วยเครื่องดื่มไทย โอเลี้ยงน้ำผึ้ง,น้ำขิงมะขาม,น้ำนิลมณี(ผักบุ้ง+กานพลู) และเก๊กฮวยโบราณ

///////////////////////

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *