ยุติธรรมต้องเกิด ยื่นร้อง “เสรีพิศุทธ์” กรณีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ กรมบัญชีกลาง วินิจฉัยไม่ตรงข้อเท็จจริง โครงการขยายการผลิตโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์
กิจการค้าร่วม ไอทีเอ เชื่อความยุติธรรมต้องเกิดหลังยื่น“เสรีพิศุทธ์” ประธาน กมธ.ป.ป.ช.) ตรวจสอบเข้ม คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ กรมบัญชีกลาง วินิจฉัยไม่ตรงข้อเท็จจริง ชี้ ไม่เป็นธรรม เล็งผลเพื่อเอื้อประโยชน์ผู้ยื่นข้อเสนอบางราย กรณีตัดสินการอุทธรณ์ประมูลขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ของการประปานครหลวง หวังคำตอบที่กระจ่างชัดต่อสังคม
วันนี้ ( 21 ก.ย. 65 ) นายวันชัย คุณาปราโมทย์ ผู้รับมอบอำนาจกระทำการแทน กิจการค้าร่วม ไอทีเอ (ITA Consortium) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา กิจการค้าร่วม ไอทีเอ ได้เข้ายื่นเรื่องต่อพลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ประกวดราคางานจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันพร้อมงานที่เกี่ยวข้อง สัญญา GE-MS5/6-9 ตามประกาศ การประปานครหลวง ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2564 ซึ่งทาง ไอทีเอ ขอการตั้งข้อสังเกตโดยสุจริตใจให้เห็นถึงความไม่ปกติ ในการทำหน้าที่ของคณะกรรมพิจารณาอุทธร์ฯ อาจจะเข้าข่ายเป็นการพิจารณา ที่ไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และไม่เป็นธรรมแก่ผู้เข้าเสนอรายอื่นที่มิใช่ผู้อุทธรณ์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ และในการยื่นต่อประธาน กมธ.ปปช. มีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับความเป็นธรรม และนำมาซึ่งข้อเท็จจริง เป็นบรรทัดฐานที่ถูกต้องให้ปรากฏในสังคม
“ การที่การประปานครหลวง ตัดสิทธิ์ผู้อุทธรณ์ทั้ง 2 ราย ประกอบด้วย บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท วงศ์สยามก่อสร้าง จำกัด ถือว่า ถูกต้อง และเป็นไปตามระเบียบของ พรบ. จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เพราะผลงานที่นำมายื่นนั้น ไม่ผ่านคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ตามเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ตามที่การประปานครหลวง ได้เผยแพร่ ต้องบอกว่า ไม่เข้าใจถึงหลักการ และมาตรฐานในการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ที่ไม่เห็นพ้องด้วยกับการพิจารณาของการประปานครหลวง”
นายวันชัย กล่าวต่อไปว่า ด้วยมีความผิดปกติในการพิจารณาการอุทธรณ์หลายประเด็น ตัวอย่างเช่น ประเด็นที่การประปานครหลวง ได้ประกาศประชาวิจารณ์ ร่างขอบเขตงาน และคุณลักษณะเฉพาะข้อ 2.11 กำหนดให้ ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานก่อสร้างระบบตกตะกอนและระบบกรองน้ำ สำหรับระบบผลิตน้ำประปา พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง ขนาดไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันในสัญญาเดียวกัน วงเงินไม่น้อยกว่า 300,000,000.00 บาท และเป็นสัญญาที่ได้ทำงานแล้วเสร็จตามสัญญา ซึ่งได้มีการส่งมอบงานและตรวจรับเรียบร้อยแล้ว และเป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานเอกชนที่ กปน. เชื่อถือ โดยต้องมีหนังสือรับรองผลงาน สำเนาสัญญา และบัญชีปริมาณงานมาแสดง และมีผู้วิจารณ์ร่างประกวดราคางานดังกล่าว โดยคุณสมบัติดังกล่าวได้เทียบเคียงและอ้างอิงจากหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐกรมบัญชีกลาง ที่กค(กวจ) 0405.2/ว214 ลงวันที่ 18 พ.ค. 2563 การกำหนดขนาดของระบบผลิตน้ำประปาขนาดใหญ่ตามที่ กปน.ใช้อยู่ในสัญญานี้ได้กำหนดหน่วย “ลูกบาศก์เมตรต่อวัน”
นายวันชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การกำหนดผลงานเป็นร้อยละของขนาดกำลังผลิตน้ำประปาที่จะก่อสร้างซึ่งขนาดผลงานที่กำหนดคิดเป็นผลงานเพียง 12.5% ของความสามารถในการผลิตน้ำของโครงการนี้ เห็นได้ชัดเจนเลยว่า การตอบข้อชี้แจงของ การประปานครหลวง ทำให้ทราบโดยทั่วกัน ว่า กำลังผลิตน้ำประปา 12.5% ของโครงการขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คือ 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และผู้สนใจยื่นข้อเสนอทุกรายทราบดีว่า การตอบประชาวิจารณ์เรื่อง กำลังผลิตน้ำประปา หมายถึง ปริมาณน้ำประปาที่ผลิตได้จากกระบวนการผลิตซึ่งได้หักปริมาณน้ำสูญเสียต่างๆในกระบวนการผลิตแล้ว
นายวันชัย กล่าวต่อไปว่า ในการนี้ บริษัท วงศ์สยามก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเป็นผู้อุทธรณ์ ได้มีการเสนอแก้ไขร่างประชาวิจารณ์ ข้อกำหนด 2.11 ดังกล่าวให้ลดลง เพื่อให้ตรงกับคุณสมบัติของผลงานตนเอง โดยสามัญสำนึกของสุจริตชนทั่วไปแล้วนั้น ถ้าทราบตั้งแต่ต้นว่า ผลงานตนเองนั้นผ่านคุณสมบัติดังกล่าว คงไม่มีสุจริตชนไหนร้องให้แก้ไขคุณสมบัติดังกล่าวอย่างแน่นอน
“ที่สำคัญผลการพิจารณาคณะกรรมการพิจารณาผลอุทธรณ์ฯ ที่ตอบกลับมายังการประปานครหลวง เมื่ออ่านแล้ว ทำให้อยากได้คำตอบว่า ใช่หรือไม่ เพราะแสดงให้เห็นว่า อาจจะเข้าข่ายมีเจตนาไม่ปฏิบัติตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และบิดเบือนข้อเท็จจริง เล็งผลเพื่อเอื้อประโยชน์ผู้ยื่นข้อเสนอบางราย และเพื่อให้ผู้อุทธรณ์ที่ใช้ผลงานกิจการร่วมค้ามาเป็นผลงานตนเอง ทั้งที่เคยมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว เช่นกรณีนี้ของ โครงการศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า อาจจะเข้าข่ายเป็นการพิจารณาที่มีเจตนาไม่สุจริต เอื้อประโยชน์ผู้อุทธรณ์บางรายด้วยเช่นกัน ไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ในเรื่องผู้ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ด้วยใช่หรือไม่ จึงต้องขอถามกลับว่า กรณีดังกล่าว อาจจะเข้าข่ายเจตนาไม่สุจริต และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยหรือไม่ ทั้งหมดนี้คือ คำถามที่คณะกรรมการพิจารณาผลอุทธรณ์ฯ ต้องให้คำตอบกับสังคม” นายวันชัยกล่าว